สภาคณาจารย์ เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคณาจารย์ภายในสถาบัน ในการให้คำปรึกษา และคำแนะนำเกี่ยวกับกิจการต่าง ๆ ของสถาบันต่อผู้บริหารของสถาบัน และเสนอแนะข้อคิดเห็นจากเสียงสะท้อนของประชาคมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อร่วมกันส่งเสริมสัมพันธภาพ จริยธรรม ตลอดจนความก้าวหน้าทางวิชาการ รวมถึงคุณภาพชีวิตในการทำงานของคณาจารย์ภายในสถาบัน
ทศวรรษที่หนึ่ง ยุคแสวงหา
ในยุค พ.ศ. 2519 – 2529 เป็นช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยมีความผันผวนและอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง ในปี พ.ศ. 2516 นิด้าได้เข้าร่วมกับกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีนักศึกษาและประชาชนร่วมเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยที่ได้มาภายหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ต้องแลกกับการสูญเสียของนักศึกษาและประชาชน หนึ่งในการสูญเสียนั้นเป็นนักศึกษานิด้า และชื่อของวีรชนผู้กล้า จีระ บุญมาก ต่อมาได้รับการเสนอเป็นชื่อของห้องประชุมของนิด้าเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงความหาญกล้าของวีรชน
ผลของกระแสประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในยุคนี้ส่งผลให้นิด้ามีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางบริหาร นิด้าเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่เปลี่ยนจากการแต่งตั้งผู้บริหารมาเป็นการสรรหาอธิการบดีและเลือกตั้งคณบดี การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นำมาซึ่งความภูมิใจและ “ความฮึกเหิม” ของประชาคม และทำให้อาจารย์กลุ่มหนึ่งมีการรวมตัวกันและมีแนวคิดในการจัดตั้งองค์การขึ้นมาเพื่อช่วยถ่วงดุลกับฝ่ายบริหารตามแนวคิดระบอบประชาธิปไตย โดยพิจารณาจากรูปแบบ Faculty Council ของต่างประเทศ แต่เนื่องจากในขณะนั้นสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยยังมีการจัดตั้งองค์การในลักษณะนี้ไม่มากนัก การระดมความคิดเห็นเรื่องสภาคณาจารย์จึงเป็นไปภายใต้คำถามว่า “องค์การนี้ควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และมีบทบาทอย่างไร” ท่านอาจารย์กลุ่มนี้รวมถึง รองศาสตราจารย์ ทองศรี กำภู ณ อยุธยา และรองศาสตราจารย์ ดร. ขัตติยา กรรณสูต แม้ว่ามหาวิทยาลัยอื่นจำนวน 12 แห่ง ได้มีการประชุมกันที่เชียงใหม่เพื่อวางแผนในการจัดตั้งสภาคณาจารย์ในปี 2517 แต่ก็ไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด
ต่อมาได้มีการหารือระหว่างคณาจารย์และฝ่ายบริหาร เพื่อกำหนดเป็นข้อบังคับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ว่าด้วยสภาคณาจารย์ พ.ศ. 2519 และมีการปรับปรุงเรื่อยมาจนถึงฉบับปี พ.ศ. 2524 และใช้ข้อบังคับฉบับนี้จนถึง พ.ศ. 2560 โดยมีการระบุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งของสภาคณาจารย์ไว้ว่า “เพื่อเป็นผู้แทนอาจารย์และนักวิชาการในการให้ความร่วมมือประสานงานกับฝ่ายบริหารของสถาบัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันส่งเสริมสัมพันธภาพ จริยธรรม ตลอดจนความก้าวหน้าทางวิชาการ”
ภายหลังจากการจัดตั้งสภาคณาจารย์ขึ้นมาแล้ว คณะและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ส่งตัวแทนเข้ามาร่วมเป็นกรรมการสภาคณาจารย์ อาทิ รองศาสตราจารย์ ทองศรี กำภู ณ อยุธยา รองศาสตราจารย์ ดร. ขัตติยา กรรณสูต รองศาสตราจารย์ ดร. สมพร แสงชัย รองศาสตราจารย์ ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กรองทอง ชวลิตธำรง หลังจากนั้นจึงมีการเลือกตั้งประธานสภาคณาจารย์ซึ่งมีผู้สมัคร 3 ท่าน คือ รองศาสตราจารย์ ทองศรี กำภู ณ อยุธยา รองศาสตราจารย์ ดร. ขัตติยา กรรณสูต และรองศาสตราจารย์ ดร. สมพร แสงชัย ต่อมาเนื่องจากทั้ง 3 ท่านต่างไม่รับตำแหน่ง สุดท้ายจึงมีการเสนอให้ ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ ดร. อัศวิน จินตกานนท์ เป็นประธานสภาคณาจารย์ อย่างไรก็ตาม จากความสะเทือนใจในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัศวิน จินตกานนท์ ได้ลาออกไปเป็นอาจารย์ที่ Indiana University จึงมีการเลือกตั้งประธานสภาคณาจารย์ท่านใหม่ รองศาสตราจารย์ ทองศรี กำภู ณ อยุธยา เป็นประธานสภาคณาจารย์ต่อจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัศวิน จินตกานนท์
สำหรับบทบาทของสภาคณาจารย์ในยุคแรกยังไม่มีความชัดเจนว่า สภาคณาจารย์ควรจะมีบทบาทอย่างไร มีการกล่าวถึงบทบาทด้านต่าง ๆ ของสภาคณาจารย์ เนื่องจากนิด้าเป็นสถาบันขนาดเล็ก จึงมีการพูดคุยเพื่อหาบทบาทที่เหมาะสม สร้างสรรค์ และสอดคล้องกับศักยภาพของคณาจารย์ที่มาร่วมเป็นสมาชิกของสภาคณาจารย์ อย่างไรก็ตาม บทบาทในการถ่วงดุลผู้บริหารซึ่งดูจะเป็นเจตนารมณ์ในการก่อตั้งยังไม่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม การดำเนินงานของสภาคณาจารย์ในยุคเริ่มต้นจึงเสมือนกับการแสวงหาบทบาทที่เหมาะสมกับบริบทของนิด้า นับว่าเป็นโชคดีที่ผู้บริหารสถาบันในยุคนี้เป็นผู้บริหารสมัยใหม่และค่อนข้างเปิดกว้าง ทำให้สภาคณาจารย์และผู้บริหารสถาบันสามารถทำงานร่วมกันได้ด้วยดี
ทศวรรษที่สอง ยุคเสริมสร้างความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม
ในช่วง พ.ศ. 2530 – 2540 ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่ภาคประชาชนมีบทบาทมากขึ้นในยุคนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิศาล บุปผเวส อดีตประธานสภาคณาจารย์ชุดที่หก (พ.ศ. 2530 – 2532) จึงให้ความสำคัญกับการพูดคุยระหว่างสมาชิกสภาคณาจารย์มากขึ้น เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสถาบัน รวมถึงการช่วยฝ่ายบริหารในการพัฒนา และมีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับฝ่ายบริหารอย่างสุภาพ นิด้าไม่มีบรรยากาศของการแข่งขันระหว่างฝ่ายบริหารกับสภาคณาจารย์ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยแห่งอื่น มีการเลี้ยงอาหารกลางวันในกลุ่มอาจารย์สถาบันเดือนละ 1 ครั้ง รวมทั้งการให้กำลังใจคณาจารย์ในการปฏิบัติงาน โดยการมอบดอกกุหลาบ ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่บุคลากรในหน่วยราชการมีพิธีการให้กำลังใจคนของหน่วยงานด้วยวิธีการเช่นนี้
กิจกรรมซึ่งมีความน่าสนใจ คือ การจัด “โต๊ะกลม” โดยการหยิบยกประเด็นที่อยู่ในความสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาสถาบันในสมัยนั้น และมีการเชิญอาจารย์อาวุโสและอาจารย์รุ่นใหม่ในสถาบันเข้าร่วมเป็นสมาชิกโต๊ะกลม เพื่อพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น มีการจัดสัมมนานอกสถานที่โดยมีอธิการบดีร่วมด้วย อันแสดงถึงอัตลักษณ์ของสภาคณาจารย์ นิด้า ที่ค่อนข้างแตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาแห่งอื่นอย่างชัดเจนในการมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บริหารกับอาจารย์
ทศวรรษที่สาม: ยุคขับเคลื่อนท่ามกลางข้อจำกัด
ในช่วง พ.ศ. 2541 – 2550 เป็นยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤต เป็นยุคที่มีนักศึกษาสนใจเรียนต่อทั้งภาคปกติและภาคพิเศษจำนวนมาก รองศาสตราจารย์ ดร. สุจิตรา บุณยรัตพันธุ์ อดีตประธาน สภาคณาจารย์ชุดที่สิบสาม คนที่สองและชุดที่สิบสี่ คนที่หนึ่ง (พ.ศ. 2544 – 2549) ได้กล่าวว่า บทบาทของสภาคณาจารย์ในช่วงนี้คือการเป็นช่องทางที่อาจารย์สามารถแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้มีการสื่อสารต่อไปยังคณะ เพื่อให้เกิดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน กิจกรรมของสภาคณาจารย์ในยุคนี้ ได้แก่ การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกนอกระบบ มีการประสานกับที่ประชุมสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) การจัดงานประชุมวิชาการประจำปี การจัดเลี้ยงสังสรรค์ให้แก่อาจารย์ใหม่ประจำทุกเดือน การจัดสัมมนาประจำปี การจัดทำคู่มือมาตรฐานจริยธรรมอาจารย์ รวมทั้งการเป็นกรรมการอุทธรณ์ร้องทุกข์ต่าง ๆ โดยตำแหน่ง
สำหรับในช่วงหลังของยุคนี้ ศาสตราจารย์ ดร. อุดม ทุมโฆษิต อดีตประธานสภาคณาจารย์ชุดที่สิบสี่ คนที่สาม (พ.ศ. 2547 – 2549) ได้เล่าว่า บรรยากาศภายนอกสถาบันในช่วงนั้นมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยที่ค่อนข้างแข็งกร้าว สภาคณาจารย์ทั่วประเทศมีทัศนะที่ต้องการเป็นกลไกในการถ่วงดุลกับฝ่ายบริหาร โดยที่สภาอาจารย์บางแห่งจะมีการดำเนินการที่ถึงขั้นก้าวร้าว ซึ่งตรงข้ามกับนิด้าซึ่งมีการทำงานร่วมมือกันเป็นอย่างดี โดยที่เมื่อท่านเข้ามาเป็นประธานสภาคณาจารย์ก็มีความรู้สึกว่าต้องร่วมมือกับฝ่ายบริหารในการพัฒนาสถาบัน
สภาคณาจารย์ในยุคนี้ ผู้แทนส่วนใหญ่จากคณะมักจะมาด้วยการถูก “เคี่ยวเข็ญ” มากกว่าความสมัครใจ อาจารย์มีภาระงานเพิ่มขึ้น ประกอบกับนิด้าเป็นสถาบันขนาดเล็ก งบประมาณมีจำกัด ทำให้สภาคณาจารย์ในยุคนี้แม้จะมีความพยายามในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ แต่เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมอะไรมากนัก งานส่วนใหญ่จึงเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคณาจารย์เป็นหลัก ในรูปแบบของการศึกษาดูงานทั้งภายในและภายนอก และอีกบทบาทหนึ่ง คือ การเป็นตัวแทนที่ดูแลเรื่องความเดือดร้อนของคณาจารย์ เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม บรรเทาความขัดแย้งหรือช่วยผ่อนหนักเป็นเบา
ในช่วงที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เจริญ คุวินทร์พันธุ์ เป็นประธานสภาคณาจารย์ชุดที่สิบห้า (พ.ศ. 2549 – 2551) มีกระแสเรื่องการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ สภาคณาจารย์มีความเห็นแย้งกับฝ่ายบริหารที่ต้องการออกนอกระบบ สภาคณาจารย์จึงใช้วิธีการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการกับฝ่ายบริหารเพื่ออธิบายเหตุผลที่ไม่เห็นด้วย หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าอันจะทำให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งเช่นที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งอื่น อันสะท้อนถึงวัฒนธรรมของนิด้าในการที่ฝ่ายบริหารและสภาคณาจารย์มีความสัมพันธ์ที่ดี มีการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ยังอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์
ทศวรรษที่สี่: ยุคร่วมสืบสานการพัฒนา
ในช่วง พ.ศ. 2551 – 2560 รองศาสตราจารย์ ดร. พาชิตชนัต ศิริพานิช อดีตประธานสภาคณาจารย์ (พ.ศ. 2551 – 2553) เป็นประธานสภาคณาจารย์อีกท่านที่ได้ยืนยันถึงอัตลักษณ์ของสภาคณาจารย์ นิด้า ซึ่งในงานสัมมนาต่างจังหวัดจะเป็นที่รวมของอธิการบดีจนถึงอาจารย์ใหม่ ๆ ที่เพิ่งเข้ามาทำงาน ในช่วงที่ท่านอาจารย์ไปร่วมประชุมกับ ปอมท. มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มักมีการรายงานเกี่ยวกับปัญหาการทำงานระหว่างสภาคณาจารย์กับผู้บริหาร ซึ่งตรงกันข้ามกับนิด้าซึ่งไม่มีปัญหาที่จะไปรายงานในลักษณะเช่นนั้น ในยุคนี้มีการสืบทอดเจตนารมณ์ของสภาคณาจารย์แต่ละยุคในการผลักดันเรื่องรางวัลอาจารย์ราชพฤกษ์ เพื่อส่งเสริมอาจารย์ในด้านการเรียนการสอนและการวิจัยในนิด้า
รองศาสตราจารย์ ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน อดีตประธานสภาคณาจารย์ (พ.ศ. 2553 – 2558) ได้ผลักดันให้มีตัวแทนสภาคณาจารย์ร่วมเป็นกรรมการในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงานบุคคล (กบค.) และมีกระบวนการการคัดเลือกอาจารย์ที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ ได้แก่ รางวัลอาจารย์ราชพฤกษ์ รางวัลอาจารย์ดีเด่นของสถาบัน รางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติและอาจารย์ดีเด่น ปอมท. และรางวัล “หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร” การจัดตั้งสโมสรราชพฤกษ์ การสร้างเครือข่ายกับ ปอมท. โดยนิด้าได้รับเลือกเป็นประธาน ปอมท. และการเชิญคณาจารย์ที่เกิดในแต่ละเดือนมาร่วมทานข้าวและตัดเค้กวันเกิด
ในปลายของยุคนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่รองศาสตราจารย์ ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ (พ.ศ.2558 – 2560) เป็นประธานสภาคณาจารย์ นิด้าได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติเพื่อเตรียมการออกนอกระบบ โดยสถาบันเปิดโอกาสให้มีการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นก่อนนำเสนอสู่สภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สภาคณาจารย์ได้มีบทบาทในการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวในเรื่องการเปิดการศึกษาในระดับปริญญาตรีของนิด้า ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคณาจารย์ และได้รวบรวมนำความเห็นดังกล่าวเสนอต่อท่านนายกสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (รองศาสตราจารย์ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา) เพื่อให้ท่านพิจารณา โดยที่ท่านนายกสภาสถาบันได้รับฟังเป็นอย่างดี และช่วยนำความเห็นดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาสถาบันฯ อีกด้วย
นอกจากนี้ สภาคณาจารย์ในยุคหลังได้มีบทบาทในฐานะตัวกลางเชื่อมประสานระหว่างอาจารย์อาวุโสและอาจารย์ใหม่ในอันที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และถ่ายทอดค่านิยมที่ดีงามของนิด้าแก่อาจารย์รุ่นหลัง โดยได้เชิญอาจารย์นิด้าที่ประสบความสำเร็จและสร้างผลงานต่าง ๆ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และให้คำแนะนำกับอาจารย์รุ่นใหม่ อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล และศาสตราจารย์ ดร. ดิเรก ปัทมศิริวัฒน์ การจัดงานเสวนาและการพิมพ์หนังสือสภาคณาจารย์เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี เพื่อเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ของความเป็นมา บทบาทและผลงานของสภาคณาจารย์ รวมทั้งการจัดเวทีสัมมนาโดยเชิญผู้บริหารของ Lee Kuan Yew School of Public Policy, National University of Singapore (NUS) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเอเชีย และอันดับที่ 12 ของโลกมาเพื่อแบ่งปันเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการสอนและการทำวิจัย และเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นในการบริหารมหาวิทยาลัย เนื่องจากนิด้ามีการสร้างวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก และกำลังจะออกนอกระบบ จึงจำเป็นจะต้องมีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยระดับโลกที่ประสบความสำเร็จเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบระบบบริหารต่าง ๆ นอกจากนี้สภาคณาจารย์ในยุคนี้ได้ดำเนินการตามที่สภาคณาจารย์รุ่นก่อนได้จัดทำไว้ เช่น เรื่องการส่งเสริมคณาจารย์ในการได้รับรางวัลต่าง ๆ การร่วมมือกับ ปอมท. การจัดกิจกรรมการกุศลเพื่อหารายได้สำหรับการทำกิจกรรมของสภาคณาจารย์ การจัดสัมมนาภายในประเทศ ส่วนการจัดดูงานในต่างประเทศได้งดเว้นไว้ชั่วคราวตามนโยบายของผู้บริหารสถาบัน
สภาคณาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์มีจุดมุ่งหมาย คือ เป็นกระบอกเสียงให้กับคณาจารย์ภายในสถาบัน
ยุทธศาสตร์ที่ 1. รื้อฟื้นความสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายกันใหม่ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สอดคล้องกับพันธกิจ : ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันกับคณาจารย์ประจำ ระหว่างคณาจารย์ประจำด้วยกัน และระหว่างคณาจารย์ประจำกับผู้ปฏิบัติงานในสถาบันซึ่งไม่ใช่คณาจารย์ประจำ
ยุทธศาสตร์ที่ 3. ตอกย้ำบทบาท ชี้น้าการพัฒนาสถาบันอย่างยั่งยืน
สอดคล้องกับพันธกิจ : เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่สภาสถาบันและอธิการบดีในการบริหารกิจการทั้งปวงของสถาบัน